จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555

หน่วยทหารสื่อสาร กองกำลัง 972 ไทย/ติมอร์ ตะวันออก (ผลัดที่ 2)

กล่าวนำ
          ก่อนอื่นก็ต้องขอแนะตัวผู้เขียนก่อนว่า ไม่ได้เป็นนักเขียนหนังสือที่เก่งกาจอะไร  แต่ก็อยากทำประโยชน์ให้กับผู้ที่กำลังจะเป็น ผบ.หน่วยสื่อสารในอนาคตที่มีโอกาสได้ออกไปทำงานต่างประเทศ ก็ขอเล่าประสบการณ์การไปราชการต่างประเทศ จัดการสื่อสารให้กับ กองกำลัง 972 ไทย/ติมอร์ ตะวันออก(ผลัดที่ 2) ภารกิจรักษาสันติภาพกองกำลังสหประชาชาติ (PKF UNTAET) เมื่อปี 2543  ก็คิดว่าน่าจะได้สาระประโยชน์บ้าง   เพื่อให้ง่ายต่อการลำดับภาพขอแบ่งการร้อยเรียงเรื่องราวเป็นขั้นๆ  

ขั้นการเตรียมการ/เตรียมคน/เตรียมของ
          หน่วยทหารสื่อสารของเราถูกจัดตั้งโดยประกอบกำลังจากหลายหน่วย เช่น สส.,ส.1,ส.พัน101,ส.พัน.102,ส.พัน.22,ส.พัน.3 และ ส.พัน.6  จำนวน 50 ชีวิต  ด้วยการถูกคัดสรรค์มาตามกระบวนการคิดหลายแบบ ทั้งแบบมันสมอง,แบบเพื่อการทำงานเฉพาะงาน,เพื่อปลดหนี้ ฯลฯ เพื่อให้การปฏิบัติการในสนามเป็นไปด้วยความเรียบร้อยเราจำต้องมีการฝึกเบื้องต้น/ทบทวน ระบบการสื่อสาร,การทำงานเป็นชุดเป็นทีม ด้วยการระดมมันสมองจากกำลังพลทุกนายมาร่วมกับจัดชุดสื่อสาร ให้ตรงกับภารกิจที่จะเดินทางไปรับหน้าที่ต่อจากผลัดที่1 ในลักษณะจัดคนให้ถูกกับงาน จัดงานให้คนลงไปทำอะไรทำนองนั้น  แบ่งเป็นงานด้านการบริหารงานและงานด้านการปฏิบัติการสื่อสาร เตรียมฟื้นฟูความรู้และปรับมาตราฐานของคนให้พร้อมที่จะทำงานได้ในทันทีที่เท้าแตะพื้นประเทศติมอร์ตะวันออกเลยละว่างั้น การประสานการปฏิบัติกับหน่วยเดิมผลัดที่ 1 ที่ทำงานอยู่       ในการเตรียมการเปลี่ยนผลัดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง ไม่น้อยไปกว่าการฝึกการทำงานเป็นทีม  เพราะเราถือว่า การใส่เสื้อให้สวยงามถูกต้อง เราต้องกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกก่อน แล้วกระดุมเม็ดต่อไปก็จะกลัดถูกต้องตามกันมา  การฝึกปรับมาตรฐานก็ได้รับความกรุณาจาก ผู้บังคับบัญชาที่ สส.และ ส.1 ที่ได้เคี่ยวเข็ญพวกเราทั้งด้านเตรียมคน เตรียมของ ความรู้คู่คุณธรรม ตลอดระยะเวลา 1 เดือน ที่ กระทุ่มแบน จึงเป็นช่วงชีวิตที่น่าจารึกไว้เป็นอย่างยิ่ง  ก็เรียกได้ว่าได้รับการฝึกวิทยายุทธด้านงานสื่อสารกันจนแน่น ฟิตเปรี๊ยะ  ทั้งการทำงานและความพร้อมทางร่างกาย จวบจนถึงวันที่ต้องทดสอบความพร้อมที่จะเป็นหน่วยสื่อสารของ กองกำลัง972ฯ เป็นผู้แทนของเหล่าสื่อสาร ไปทำงานให้เป็นที่ประจักษ์ ว่าการสื่อสารทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น วิทยุ/ทางสายและการสื่อสารข้อมูล เราพร้อมแล้ว ที่จะทำงานสนับสนุน บก.กองกำลัง972ฯ จึงได้แสดงการตรวจสอบเชิงสาธิตให้คณะผู้บังคับบัญชาของ ทบ.และ สส. ได้เห็นเชิงประจักษ์ในขีดความสามารถและเชื่อมั่นว่าจะปฏิบัติภารกิจจัดการด้านสื่อสาร สำเร็จแน่นอน

ขั้นการเดินทาง
          ภายหลังการฝึกในที่ตั้ง กระทุ่มแบน ระยะเวลา 1 เดือน จบแล้ว  งานต่อไปที่ต้องทำต่อเนื่องคือการประสานกับหน่วยสื่อสารผลัดที่ 1 ถึงเรื่องระบบการส่งกำลังเครื่องมือสื่อสาร การส่งกลับ การส่งซ่อม การผลัดเปลี่ยนเครื่องมือ เพื่อให้เป็นไปตามค่าเช่า WET LEASED/DRY LEASED และเครื่องสื่อสารสำหรับการปฏิบัติงาน ให้เกิดความต่อเนื่อง อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ให้เกิดการขาดตอน ระหว่างการผลัดเปลี่ยน  จึงต้องมีการวางแผนให้ประสานสอดคล้อง จัดระวางการบรรทุกสิ่งอุปกรณ์ที่จะส่งไปทางเรื่องด้วยการบรรจุใส่เชลเตอร์ เพราะสิ่งอุปกรณ์ต้องถูกส่งไปทางเรือสินค้า  แต่คนเดินทางโดยเครื่องบิน เวลาเดินทางไปถึงจะได้ไปรับของที่ท่าเรือได้ พร้อมทำงานในทันที เมื่อส่งของไปทางเรือโดยการประสานการปฏิบัติโดยใกล้ชิดกับ กบ.ทบ. เสร็จแล้วคราวนี้ก็ ก็เรื่องส่วนตัวแล้ว..ทำประวัติบุคคล ผู้รับบำเหน็จตกทอด..หลักฐานสั่งเสียละเอียดยิบ...จัดระเบียบความเป็นอยู่ลูกเมีย...เครื่องรางของขลัง....แผนการบรรทุกบุคคล ข้าวของเครื่องใช้...ต้องไม่เกิน 3 ชิ้น น้ำหนักไม่เกิน 25 กก. ฯลฯ   เอาล่ะ...กว่าจะจับปูใส่กระด้ง 50 ชีวิต ให้พร้อมทั้งหมด  ตอนแรกคิดว่าจะยาก แต่ด้วยความเชื่อมั่น การเตรียมทีม เชื่อในความรักศักดิ์ศรีของตัวกำลังพล ของหน่วย ความรัก ความสามัคคี การจัดหมวดหมู่ ทำให้สิ่งที่ยากกลับกลายเป็นง่ายไปเสียนี่  นั่งรถไปขึ้นเครื่องบินที่จังหวัดอุบล อ๋อ...กำลังพลส่วนใหญ่ที่เป็นส่วนของกองพันทหารราบไทยจากกรมทหารราบที่ 6 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ จว.อุบลราชธานี   เราเลยต้องเดินทางไปขึ้นเครื่องที่นั่น

ขั้นเข้าที่ตั้งและรับ-ส่งหน้าที่
          เมื่อลงจากเครื่องบินโบอิ้ง 737 แบบเช่าเหมาลำให้กำลังพลที่เดินทางในเที่ยวนั้นกว่า 380 ชีวิต  แตะเท้าก้าวแรกลงสนามบินเบาเกา ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการภาคตะวันออก(บก.ภตอ.)  ซึ่งผู้บังคับบัญชากองกำลังชาติไทยเป็นผู้บัญชาการซึ่งในขณะนั้นมีท่าน พ.อ.พิเชษฐ์  วิสัยจร (ยศในขณะนั้น) ผบ.ร. 6 เป็น ผู้บัญชาการกองกำลัง972ไทย/ติมอร์ตะวันออกและเป็นผู้บัญชาการภาคตะวันออก(UNTAET) ก้าวแรกที่ลงเครื่องก็เห็น มิตรประเทศและคนติมอร์มาต้อนรับที่สนามบินมากมาย  จิตใต้สำนึกถึงความเป็นทหารไทย ศักดิ์ศรีของทหารชาติไทยได้พลุ่งพล่านออกมาโดยไม่รู้ตัว จะทำอะไรต้องเป็นระเบียบ ต่อจากนั้นก็เดินเท้าเข้าที่ตั้งหน่วยสื่อสารภาคตะวันออกซึ่งอยู่ถัดออกมาจากสนามบินเบาเกานั่นเอง  เมื่อเข้าที่ตั้งเสร็จก็มีการบรรยายรับ-ส่งหน้าที่ผู้บังคับหน่วยทหารสื่อสาร ให้รับทราบถึงภารกิจการจัดวางการสื่อสารเพื่อเชื่อมต่อไปยังหน่วยเหนือ คือ บก.UNTAET มายัง บก.ภาคตะวันออก และหน่วยรอง คือ กองพันทหารราบเกาหลีใต้ กองพันทหารราบฟิลิปปินส์ และกองพันทหารราบไทยเราเอง  การจัดวางการสื่อสารก็คล้ายกับระบบการสื่อสารในกองทัพบกเราเอง จาก บก.UNTAET มายัง บก.ภาคตะวันออก
              การสื่อสารระหว่าง บก.UNTAET (เมืองดีลี่) - บก.ภตอ.(เมืองเบาเกา) ก็มีระบบทางสายเป็นโทรศัพท์ 5 ตัวผ่านดาวเทียม ลงไปยังกองกำลังชาติต่างๆ เรียกว่าโทรได้ทั่วประเทศเลยว่างั้น ระบบวิทยุก็ใช้วิทยุมือถือ REPEATER เป็นการสื่อสารแบบพื้นที่ วางสถานีทวนสัญญาณทั่วประเทศ มีความถี่ที่ใช้งานประมาณ 10 ช่อง (เพราะลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ป่าเขาสูงชันมากมายทั่วเกาะ) นอกจากนั้นก็มีระบบการสื่อสารข้อมูลผ่านระบบอินทราเน็ต(INTRANET)และอินเทอร์เน็ต(INTERNET) เอาไว้รายงานสรุปการปฏิบัติประจำวันและรายงานข่าวต่างๆ ก็คงมีเพียงเท่านั้น เราจึงต้องไปวางศูนย์ข่าวเป็นชุดประสานงาน มีกำลังพล 3 นาย วางระบบวิทยุ SSB ให้ใช้งานติดต่อกับ บก.ภตอ.(ไทย) และ วิทยุมือถือ เอาไว้ประสานงานในระหว่างคนไทยติดต่อกันเองได้โดยสะดวก ในเมืองหลวงดีลี่ เสริมจากที่มีอยู่เดิม
          การสื่อสารระหว่าง บก.ภตอ.(เมืองเบาเกา) –หน่วยรอง กองพันทหารราบเกาหลีใต้/กองพันทหารราบฟิลิปปินส์/กองพันทหารราบไทย    เนื่องจากไทยเราเป็นหน่วยหลักในการจัดกำลังรับผิดชอบพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศติมอร์ตะวันออก การจัดวางการสื่อสารเชื่อมระหว่างหน่วยจึงใช้หลัก LEFT TO RIGHT /HIGH TO LOW ตามหลักสากล  ตามหลักการจัดแบบไทยดังนี้
                    การจัดตั้งศูนย์การสื่อสารประจำ บก.ภตอ. สถาปนาระบบการสื่อสารภายในกองบัญชาการโดยจัดลำดับความเร่งด่วน ดังนี้
– สถาปนาระบบทางสายซึ่งก็คือโทรศัพท์5ตัวของหน่วยเหนือ ให้ ผบ.ภตอ. สามารถพูดโทรศัพท์กับ ผบ.กองกำลังรักษาสันติภาพ ให้ได้ก่อน
 –  ต่อไปจึงพิจารณาตามลำดับ เชื่อมศูนย์การสื่อสารระหว่างหน่วยเหนือหน่วยรองและ บก.ทบ.ประเทศไทย ต่อจากนั้นจึงติดตั้งให้กับฝ่ายอำนวยการ โดยพิจารณาให้ฝ่ายยุทธการเป็นลำดับแรก ต่อจากนั้นก็เป็นไปตามแผนที่เส้นทางสาย ตามแผนที่ต่อไป
                    จัดชุดปฎิบัติการสื่อสารประประจำหน่วยรอง ที่ กองพันทหารราบเกาหลีใต้และกองพันทหารราบฟิลิปปินส์
                    สถาปนาระบบการสื่อสารทางสายผ่านระบบวิทยุถ่ายทอด DX-111 ให้ ผบ.ภตอ.สามารถพูดสายติดต่อกับผู้บังคับกองพันหน่วยรองทั้ง 3 หน่วยได้  เชื่อมระบบทางสายให้ศูนย์ข่าวหน่วยรองทุกหน่วยให้สามารถรับส่งข่าวกันได้ (ระบบนี้เป็นเครื่องมือสื่อสารที่นำมาจากประเทศไทยทั้งหมด ตระกลู RL และ DX )
                    สถาปนาการสื่อสารระบบวิทยุ SSB (ข่ายธุรการ) เชื่อมกลับมายังประเทศไทย ที่ บก.ทบ., สส., ทภ.2 ด้วยครื่อง  HF-2000ก็สามารถติดต่อได้เป็นบางช่วงระยะเวลา ที่ท้องฟ้าเปิด อากาศแจ่มใส (ใช้คลื่นฟ้า-ระยะทางระหว่างไทยกับติมอร์ ก็ราวๆประมาณ 3100 ก.ม. ไม่น่าเชื่อว่าชุดวิทยุ HF-2000 กำลังออกอากาศ 20 วัตต์ สามารถส่งข้ามฟ้าถึงกันได้ ) นอกจากนั้นก็วางไปยังหน่วยรองด้วยเป็นช่องทางการสื่อสารรอง จากโทรศัพท์ทั้ง 2 ระบบ
                    สถาปนาการสื่อสารระบบวิทยุ FM ทหาร (ข่ายบังคับบัญชา) ตระกูล VRC SERIES สามารถใช้งานได้ดีในทุกพื้นที่ เมื่อหาที่ตั้งสถานี RETRAN ที่เหมาะสม เป็นเครื่องสื่อสารที่ระหว่างศูนย์การสื่อสารและศูนย์ข่าวสามารถใช้ได้ดี ทั้งเป็นการทดสอบระบบและใช้เป็นการเรียนการสอนในเวลาว่างของการใช้งานด้วยไม่ว่าจะเป็นเรื่องการติดตั้งใช้งาน การปรนนิบัติบำรุง ระเบียบการใช้วิทยุโทรศัพท์ การเรียกขาน  ระบบรับรองฝ่าย และที่สำคัญ ยานพาหนะส่วนใหญ่ที่ออกลาดตระเวนและเดินทางไปราชการในพื้นที่ป่าภูเขา สามารถใช้ข่ายนี้ในการประสานการปฏิบัติได้เป็นอย่างดี   และนอกจากนั้น ยังมีระบบวิทยุมือถือ(ข่ายภายใน บก.) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการตรวจความพร้อมในการรับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาได้ทุกเวลา  แม้เวลานอน
                    เชื่อมสัญญาณการสื่อสารข้อมูล ซึ่งเป็นการสื่อสารหลักในการรายงาน ผ่านระบบ INTRANET ระหว่าง บก.กองกำลังรักษาสันติภาพกับ บก.ภตอ. และหน่วยรอง ต่างๆ ในการรายงานด่วน/รายงานประจำวัน ให้ส่วนที่รับผิดชอบแต่ละสายงาน เป็นประจำ  และด้วยโอกาสนี้เอง ได้ใช้ INTERNET ทำเอกสารการรายงานประจำวันกลับมายังประเทศไทย ที่ บก.ทบ. ช่วงแรกก็ใช้ FAX มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ช่วงหลังมาก็ใช้ทาง E-MAIL รับ-ส่งข่าวและ DATA ต่างๆ กลับมาประเทศไทย  เสียดายที่ในปีนั้น (พ.ศ.2543) การสื่อสารข้อมูลอินเทอร์เน็ทเพิ่งเข้ามามีบทบาทกับการรับ-ส่งข้อมูล ซึ่งยังไม่เป็นที่ยอมรับในวงการทหารเท่าใดเพราะติดด้วยระเบียบและข้อจำกัดเพียงแค่ การลงลายมือชื่อในวิทยุ ต้องเป็นลายเซ็น  ยอมรับในลายเซ็นมากกว่า เนื้อหาใจความในวิทยุ  แต่ก็ยังดีที่ในปัจจุบัน มีการยอมรับกันมากขึ้น  และที่สำคัญ ช่วงนั้นยังไม่มีการประชุมระบบ VTC เหมือนอย่างทุกวันนี้  ที่ทำให้เราเห็นว่าการสื่อสารข้อมูลมันทำให้โลกเราเล็กลงทันตาเห็น เทคโนโลยีทำให้ความยุ่งยากในการสื่อสารที่บางทีอาจต้องใช้เวลาเป็นวัน เหลือเพียงแค่เสี้ยวนาทีก็สามารถรับทราบข้อมูลข่าวสาร  ผู้บังคับบัญชาสามารถควบคุมบังคับบัญชา หน่วยรองที่อยู่ห่างไกลได้ง่ายเพียงพริบตาเหมือนอย่างทุกวันนี้
                    นอกกจากนี้ ทหารไทยช่วงนั้น ปี 2543 ก็ได้จัดการสื่อสารส่วนตัวผ่านระบบโทรศัพท์มือถือซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก ยี่ห้อ SAVY เครื่องล่ะ 125 เหรียญ AUS. (เอา 18.23 คูณเอา ค่าเงินในช่วงนั้น) เป็นโทรศัพท์ระบบ PRE PAID ยังไม่มีในประเทศไทยหรอก ก็เรียกได้ว่าได้เท่ห์ก่อนใคร ในราคา โทรกลับไทย นาทีละประมาณ 32 บาท สร้างความชื่นมื่นให้หัวใจทหารไทยไกลบ้านได้เป็นอย่างดี   แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นเครื่องมือในการทำลายขวัญทหารไทยในแนวหน้าซะงั้น  โทรกลับบ้านที่ไรมีแต่ปัญหาให้แก้สารพัด ที่ร้ายกว่านั้นก็อาจเลวร้ายไปถึงการโทรแจ้งพิกัดที่ตั้งหน่วยทหารให้ฝ่ายตรงข้าม ส่งลูกยาวมาลงหัวเพื่อนร่วมชีวิตซะงั้น  จึงต้องใช้ข้อพิจารณาในการเปิดเสรีในการใช้เครื่องมือสื่อสารอย่างไรให้คุณ ให้โทษ ได้
          เอาล่ะซิ วางการสื่อสารทุกระบบเรียบร้อยแล้ว คราวนี้ก็เป็นคราวของการจัดเวรยาม 24 ช.ม. แบ่งเป็นกะกลางวันกะกลางคืน ก่อนการส่งเวรก็มีการรายงานสรุปการปฏิบัติการป้องกันข่าวล่าช้าข่าวสูญหาย ข่าวไม่ถึงมือผู้รับ ก็ต้องติดตามกันให้เรียบร้อย  เพราะถ้ามีปัญหาเรื่องข่าวถึงมือผู้รับช้าที่ไร  มันก็ลง สื่อสารทุกที  ทั้งๆ ที่ตลอดเส้นทางการเดินของข่าว มีคนตั้งมากมาย มีปัญหาที่ไรลงสื่อสารรับเต็มทุกงาน ตรวจสอบที่ไรก็ไปค้างอยู่ในตะกร้ารอดำเนินการของเจ้าหน้าที่สายงานทั้งนั้น   ไม่มีใครรับรู้ถึงจิตวิญญาณของทหารสื่อสารเลยว่า รวดเร็ว แน่นอน  ปลอดภัย    รับรองว่าถึงมือผู้รับปฏิบัติทันเวลาแน่นอน  ข้อความชัดเจน สมบูรณ์  และไม่ล่วงรู้ไปถึงฝ่ายตรงข้ามเด็ดขาด   เพราะโทรศัพท์คุยกันทุกวัน ฟังเสียงก็รู้แล้วว่าเป็นใคร มันหาโอกาสพลาดได้ยากนะ  เว้นแต่จะมีก็เกี่ยงกันรับข่าวนั่นล่ะ  เวียนข่าวให้กันก็ไม่ได้ ไม่ยอมรับข่าว ข่าวเลยหลุด  ทุกวันตอนเปลี่ยนผลัดจึงต้องมีการเช็คข่าวเข้า-ข่าวออก –ข่าวภายใน กี่ฉบับ เวลาไหน ตรวจสอบได้

          แหมอ่านไปอ่านมา ชักน่าเบื่อ  ไอ้คนเรามันก็เป็นแบบนี้ละครับ  พอคุยเรื่องวิชาการก็บอกน่าเบื่อ  เอาเรื่องเล่าขำๆ ในติมอร์มาเล่าให้ฟังกันดีกว่า 
                    เรื่องแรก ผักกะเพรา   ก็กะเพราที่เราเอาไปทำผลัดกระเพา อาหารสิ้นคิดของคนไม่รู้จะสั่งอาหารอะไรเวลาเดินเข้าร้านอาหารตามสั่ง รสชาติเค็มนำเผ็ดของเรานี่ละครับ   ที่ติมอร์ มันจะขึ้นดาษดื่นทั่วไปเพราะที่ติมอร์เค้าไม่กินกัน  บอกทานแล้วตาย  อย่างนี้ก็เสร็จทหารไทย..เวลาที่พวกเราออกไปลาดตระเวนพื้นที่ทางรถยนต์ ก่อนกลับเข้าฐานก็ต้องนำติดมือมาด้วยทีละต้นสองต้น เอาไว้ประกอบอาหารอย่างที่คนไทยกินกัน  ทหารหมวกแดงของพวกเราที่เข้าไปฝังตัวอยู่กับประชาชนติมอร์ ก็เด็ดมาประกอบอาหาร เวลาทำ คนติมอร์ก็มาแอบมองดูว่า ทหารเรากินแล้วตายตามคำบอกเล่าของบรรพบุรุษหรือป่าว  พวกเราก็เด็ดกินกันจนเกือบจะหมดเกาะก็ไม่เห็นมีใครตาย กลับอ้วนเอาๆ  จนหลังๆมา ต้องมาห้ามทหารไทยเด็ดกระเพราและถอนต้นมาประกอบอาหารเด็ดขาด ให้เพียงเด็ดกิ่งเท่านั้น เพราะเกรงว่ากระเพราจะสูญพันธ์ไปจากเกาะติมอร์ตะวันออก เป็นการอนุรักษ์พันธ์กระเพราไว้ให้ชนรุ่นหลัง ไว้ทำมาหารับประทานได้   หลังๆ มาทราบว่าคนติมอร์ทานกระเพราเป็น ตามรายการอาหารไทย คือผัดกระเพราราดหน้าไข่ดาว ตามแบบคนไทย
                    เรื่องต่อมา ก็เรื่อง ดอกมะละกอ   ที่ติมอร์ก็มีมะละกอเหมือนไทยเรานี่ล่ะครับ  พันธ์พื้นเมือง แต่แปลกอย่างคือ มีแต่ต้นตัวผู้เยอะมาก แบบว่า ออกดอกเต็มต้นไปหมดแต่ไม่ติดลูก  ไอ้ที่ติดลูกบ้างก็เสร็จพี่ทหารไทยเอาไปทำส้มตำกินเรียบร้อย  เพราะคนติมอร์ไม่กินลูกมะละกอแต่กินดอกแทน ด้วยวีธีการต้มกิน  สาวๆที่นั่นมีความเชื่อว่ากินแล้วเป็นยาสมุนไพร แบบประมาณว่า กาวเครือขาว กินแล้วหน้าอกหน้าใจ จะบิ๊กเบิ้ม ประมาณนั้น  มีวันหนึ่ง หน่วยแพทย์ของไทยเราก็ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เข้าไปทำการรักษาให้ชุมชนหนึ่งรอบฐานเพื่อปฏิบัติการจิตวิทยา เพื่อสร้างความรักความเข้าใจ สร้างเสริมความเข้าใจอันดีกับชุมชนรอบค่าย ก็เหมือนโครงทหารหน่วยทหารสีขาว ของผู้บังคับบัญชาเรานี่ล่ะครับ  พยาบาลสาวของหน่วยแพทย์ของเราก็มีความสามารถด้านสัมภาษณ์ภาษาท้องถิ่นเป็นอย่างดีได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ จนสามารถล่วงรู้ความลับก้นครัว อันเป็นสูตรลับของสาวๆติมอร์นางหนึ่งว่าทำไม ไปทำอะไรมาถึงได้ อวบอึ้มซะขนาดนั้น ก็ได้รับคำตอบว่าเจ้าหล่อนสาวติมอร์ ชอบนำดอกมะละกอมาประกอบอาหาร แล้วมันก็เบ่งบานสวยงามอย่างที่เห็น  ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  พยาบาลสาวเจ้าท่ากระดานเรียกพี่ของเรา ก็เริ่มดื่มด่ำกับดอกมะละกอตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นมา  จนป่านนี้แล้วไม่ทราบว่า หมอหนิง ขวัญใจทหารไทย/ติมอร์ผลัดที่สอง ตอนนี้ เธออยู่ที่ไหน  ได้ผลประการใดอย่าลืมบอกต่อ เคล็ดลับ สาวไทยคนอื่นๆ ด้วยนะครับ...555+
          ครับ...เรื่องที่เล่ามาก็เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของประสบการณ์นายทหารสื่อสารในต่างประเทศที่เล่าไม่จบครับ เป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม  และไม่ควรพลาดถ้ามีโอกาสได้ไปราชการที่ต่างประเทศ  ระบบงาน หรือ รปจ.ทางการสื่อสารของไทยเรา ขอยืนยันครับ ว่าคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นคนหรือมันสมองในการแก้ปัญหา สติปัญญาของพวกเรา ไม่แพ้ ชนชาติใดในโลก  เพราะเราถูกปลูกฝังให้แก้ปัญหาตลอดเวลาบนพื้นฐานของความขาดแคลนเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย  ทหารไทยเราเก่งกาจเรื่องการดัดแปลงเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ให้สามารถนำมาใช้งานให้เกิดประโยชน์ได้  ปีนั้นเป็นปี พ.ศ.2543   คิดทางฝรั่งก็ ปี ค.ศ.2000  พอดี เรานะเครื่องสื่อสารเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้งานจำนวนมาก...เป็นช่วงเวลาของการก้าวผ่านศตวรรษพอดี เอาไว้โอกาสหน้าถ้ายังให้โอกาส มาเขียนมาอีก ในโอกาสต่อไป



พ.อ.วัชรพล   คันธา
ผบ.หน่วยสื่อสาร กองกำลัง972 ไทย/ติมอร์ตะวันออก ผลัดที่ 2(ปี43)                                 
ผบ.พัน.ซบร.22 บชร.2 (ปี55)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น